วันพุธที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2559

กาพย์น่ารู้

เรื่องของกาพย์


กาพย์ คือคำประพันธ์ชนิดหนึ่งซึ่งมีกำหนดคณะ พยางค์ และสัมผัส มีลักษณะคล้ายกับฉันท์ แต่ไม่นิยม ครุ ลหุ เหมือนกับฉันท์
กาพย์ แปลตามรูปศัพท์ว่า เหล่ากอแห่งกวี หรือ ประกอบด้วยคุณแห่งกวี หรือ คำที่กวี ได้ร้อยกรองไว้
กาพย์มาจากคำว่า กาวฺย หรือ กาพฺย และคำ กาวฺย หรือ กาพฺย มาจากคำ กวี กวีออกมาจากคำเดิม ในภาษาบาลี และสันสกฤต กวิ แปลว่า ผู้คงแก่เรียน ผู้เฉลียวฉลาด ผู้มีปัญญาเปรื่องปราด ผู้ประพันธ์กาพย์กลอน และแปลอย่างอื่น ได้อีก
คำ กวิ หรือ กวี มาจากรากศัพท์เดิม คือ กุธาตุ แปลว่า เสียง ว่าทำให้เกิดเสียง ว่าร้อง ว่าร้องระงม ว่าคราง ว่าร้องเหมือนเสียงนก หรือเสียงแมลงผึ้ง
กาพย์ ตามความหมายเดิม มีความหมายกว้างกว่าที่เข้าใจกัน ในภาษาไทยคือ บรรดาบทนิพนธ์ ที่กวีได้ ร้อยกรองขึ้น ไม่ว่าจะเป็น โคลง ฉันท์ กาพย์ หรือ ร่าย นับว่าเป็นกาพย์ ทั้งนั้น แต่ไทยเรา หมายความ แคบ หรือหมายความถึง คำประพันธ์ชนิดหนึ่ง ของกวีเท่านั้น

กาพย์มีลักษณะผิดกับกลอนธรรมดา คือ
๑. วางคณะ พยางค์ และสัมผัสคล้ายกับฉันท์
๒. ใช้แต่งปนกับฉันท์ได้ และคงเรียกว่า "คำฉันท์" เหมือนกัน

กาพย์ที่นิยมใช้อยู่ในภาษาไทย มี ๕ ชนิด คือ
๑. กาพย์ยานี
๒. กาพย์ฉบัง
๓. กาพย์สุรางคนางค์
๔. กาพย์ห่อโคลง
๕. กาพย์ขับไม้ห่อโคลง

กาพย์ยานี ๑๑ หรือ กาพย์ยานี คือ กาพย์ ชนิดหนึ่ง มีคำ ๑๑ คำในหนึ่งบาท จึงเรียกว่า กาพย์ยานี ๑๑ นิยมใช้ในการเล่าเรื่อง ในหนังสือประเภทคำกาพย์ ร่วมกับกาพย์ชนิดอื่นๆ หรือในหนังสือประเภทคำฉันท์ ร่วมกับกาพย์และฉันท์ชนิดอื่นๆ ในยุคปัจจุบัน นิยมแต่งกาพย์ยานีเป็นบทสั้นๆ โดยไม่ได้ร้อยกับฉันทลักษณ์ประเภทอื่นๆ

ลักษณะอื่นๆของกาพย์ยานี ๑๑
กาพย์ยานีอาจมีความยาวร้อยต่อกันกี่บทก็ได้ ไม่จำกัด
บาทที่สองของแต่ละวรรค อาจไม่ต้องมีสัมผัสจากคำท้ายวรรคหน้า ไปยังคำที่สามของวรรคหลังก็ได้



วันอังคารที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2559

กาพย์ยานี ๑๑


ความเป็นมาของกาพย์ยานี ๑๑

       กาพย์ยานี ๑๑ เป็นกาพย์ที่มีเค้าเดิมมาจาก กาพย์พรหมคีติ จากคัมภีร์สารวิลาสินีและกาพย์ตรังคนทีหรือตรังควชิรวดี จากคัมภีร์กาพย์คันถะ เพราะเหตุว่ามีรูปแบบสัมผัสคล้ายคลึงกัน แต่มีผู้เชี่ยวชาญบางท่านได้ให้ความเห็นว่า กาพย์ยานี น่าจะเอาอย่างมาจาก อินทรวิเชียรฉันท์ ที่มีต้นบทขึ้นว่า “ ยานีธ...”  แต่มีท่านพระยาอุปกิตศิลปะสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ เปรียญธรรม) ท่านได้อธิบายไว้ว่า คำว่า กาพย์ยานี ๑๑ ได้เรียกตามอินทรวิเชียรฉันท์ ซึ่งมีตัวอย่างว่า “ ยานีธะ ภูตานิ สะมาคะตานิ ” 
กาพย์ยานี   มีชื่อเรียกหลายอย่าง  เช่น  กาพย์ยานี กาพย์ยานีลำนำ าพย์ยานีลำนำ ๑๑ กาพย์ยานี ๑๑ เป็นต้น แต่ที่นิยมเรียกกัน คือ กาพย์ยานี ๑๑